Re-Imagining Hua Lamphong: The New People’s Space
[รวมหัวคิดเพื่อหัวลำโพง … ร่วมกันจินตนาการสรรสร้างพื้นที่เมืองยุคใหม่สำหรับทุกคน]
โครงการประกวดแนวความคิดการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)
โจทย์การประกวด
สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สะท้อนโฉมหน้าแห่งยุคสมัยของการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมระบบรางของประเทศ จวบจนปี พ.ศ. 2564 นี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยเริ่มวางแนวนโยบายในการขยับขยายกิจการในภาพรวม เพิ่มการบริการในเส้นทางการเดินรถสายต่างๆ มีการพัฒนาระบบรางและเทคโนโลยีให้ทันสมัยเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารและประชาชนทั่วไป จึงเป็นเหตุให้มีแผนการโยกย้ายศูนย์กลางการบริการแห่งนี้ ไปยังสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ อันส่งผลให้บทบาทและความเป็นศูนย์กลางของสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ลดลงไป
ด้วยรูปแบบทางสถาปัตยกรรมอันงดงามของสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) และประวัติศาสตร์อันยาวนานและทรงคุณค่าที่มีต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงตำแหน่งที่ตั้ง อันเป็นจุดเปลี่ยนผ่านเป็นหมุดหมายแห่งการเวลาระหว่างพื้นที่การพัฒนาเมือง พื้นที่ย่านประวัติศาสตร์ ย่านการค้าของกรุงเทพฯ รวมไปถึงความสำคัญในเชิงการขนส่งเปลี่ยนถ่ายของระบบขนสาธารณะต่างๆ เช่น รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีแดง และระบบเดินเรือรอบคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งองค์ประกอบและบริบทเหล่านี้ล้วนเป็นทั้งศักยภาพและความท้าทายใหม่ต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้ของสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่ ย่านและชุมชนโดยรอบ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและประเทศไทยในภาพรวม
จึงขอเชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนที่สนใจ ร่วมส่งผลงานแสดงแนวความคิด ในการนำเสนอการใช้งานและกิจกรรมในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) พร้อมกับการอนุรักษ์คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ รวมถึงช่วยส่งเสริมให้ตัวอาคารสถานีและพื้นที่โดยรอบสามารถปรับตัวและตอบสนอง เอื้อประโยชน์ต่อความต้องการและกิจกรรมเพื่อสังคมเมืองในอนาคตอย่างเหมาะสม ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และสานต่อคุณประโยชน์ของสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) อันทรงคุณค่านี้ให้สามารถพัฒนาและมีบทบาท หน้าที่ใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองต่อไปในอนาคตได้
ประเภทการประกวด
ประเภทการนำเสนอโครงการประกวดแบบ Re-Imagining Hua Lamphong นั้นแบ่งเป็นสองกลุ่มได้แก่
1. ประเภทบุคคลทั่วไป
- มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
- ส่งผลงานในแบบเดี่ยว หรือกลุ่ม (ไม่เกิน 4 คน)
- สมัครลงทะเบียนและส่งผลงานในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล ตามลิ้งค์ที่ระบุไว้ภายในวันเวลาที่กำหนด
- ขอบเขตพื้นที่: พื้นที่ทั้งหมด 121 ไร่ (โปรดดูเอกสารประกอบ 1.1)
รายละเอียดการแบ่งกลุ่มย่อยสามแนวทาง
ผู้สมัครสามารถเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง (scenario) จากสามแนวทาง เพื่อเป็นกรอบแนวคิดเบื้องต้นในการออกแบบวางผังและโซนต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์-พัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของพื้นที่ (conceptual master plan) ตามสัดส่วนของพื้นที่และแนวทางในการกำหนดรูปแบบ ลักษณะการใช้งานและประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่ ซึ่งมาจากการศึกษาวิจัยเบื้องต้นของคณะทำงาน สามารถแบ่งกลุ่มได้สามแนวทาง ดังนี้
- แนวทางเขียวมาก
- แนวทางเขียวกลาง
- แนวทางเขียวน้อย
รูปแบบการนำเสนอ
นำเสนอผลงานแสดงแนวความคิดการอนุรักษ์-พัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของพื้นที่โครงการทั้ง 121 ไร่ ในรูปแบบและเทคนิคใดก็ได้บนบอร์ดขนาด A1 (59.4 x 84.1 ซม.) จำนวน 2 แผ่น แนวตั้ง ซึ่งประกอบไปด้วย
- แนวความคิดการออกแบบ การวิเคราะห์พื้นที่ และเป้าหมายการอนุรักษ์-พัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของพื้นที่โครงการ
- ข้อเสนอในการกำหนดรูปแบบ ลักษณะการใช้งานและประโยชน์ใช้สอยภายในอาคารอนุรักษ์ทั้ง 5 หลัง (ทำเป็นตาราง/แผนภาพ หรือกราฟิกที่สื่อสารได้อย่างเหมาะสม)
- ผังแนวความคิดการอนุรักษ์-พัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของพื้นที่ (conceptual master plan) ตามแนวทางใดแนวทางหนึ่งที่กำหนดไว้ให้ พร้อมรูปด้านอาคาร รูปตัดอาคาร (ในมาตราส่วนที่เหมาะสม)
- ภาพบรรยากาศภาพรวมทั้งโครงการ ทัศนียภาพและบรรยากาศทั้งภายนอกและภายในอาคาร (อย่างน้อย 2 อาคาร ประกอบด้วย อาคารสถานีรถไฟหลัก และ อีกหนึ่งอาคารอนุรักษ์อาคารใดก็ได้)
การส่งไฟล์ผลงาน
ผู้ที่ได้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว สามารถรวมไฟล์บอร์ดขนาด A1 จำนวน 2 แผ่น เป็นไฟล์เดียวกัน แล้วอัพโหลดขึ้นในลิ้งก์ที่จัดเตรียมไว้ให้ตามเลขรหัสที่ได้รับตอนลงทะเบียน แต่ไม่ต้องใส่เลขรหัสที่ได้รับรับตอนลงทะเบียนลงบนบอร์ดผลงาน
ไฟล์ดิจิทัล – ไฟล์ที่ส่งต้องเป็น PDF format มีความละเอียด 300 dpi ตั้งชื่อไฟล์ตามหมายเลขรหัสที่ได้รับตอนลงทะเบียน และตามด้วยประเภท เช่น A0001-บุคคลทั่วไป
2. ประเภทนักเรียน
- มีอายุไม่เกิน 18 ปี (หรือเทียบเท่า ณ วันส่งผลงาน)
- ส่งผลงานในแบบเดี่ยว หรือกลุ่ม (ไม่เกิน 4 คน)
- สมัครลงทะเบียนและส่งผลงานในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล ตามลิ้งค์ที่ระบุไว้ภายในวันเวลาที่กำหนด
- ขอบเขตพื้นที่: เน้นเฉพาะตัวอาคารพักคอยผู้โดยสารหลักและพื้นที่รอบนอกอาคาร (โปรดดูเอกสารประกอบ 2)
รูปแบบการนำเสนอ
นำเสนอผลงานภาพแนวความคิดการอนุรักษ์-พัฒนาตัวอาคารสถานีรถไฟหลักและพื้นที่รอบนอกอาคารเท่านั้น ในรูปแบบและเทคนิคใดก็ได้บนบอร์ดขนาด A1 (59.4 x 84.1 ซม.) จำนวน 1 แผ่น แนวตั้ง ซึ่งประกอบไปด้วย
- แนวความคิดการออกแบบ การวิเคราะห์พื้นที่ และเป้าหมายการอนุรักษ์-พัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของอาคารสถานีรถไฟหลัก
- ข้อเสนอในการกำหนดรูปแบบ ลักษณะการใช้งานและประโยชน์ใช้สอยภายในอาคารอาคารสถานีรถไฟหลัก (ทำเป็นตาราง/แผนภาพ หรือกราฟิกที่สื่อสารได้อย่างเหมาะสม)
- ทัศนียภาพและบรรยากาศภาพรวม ทั้งภายนอกและภายในอาคารสถานีรถไฟหลัก
การส่งไฟล์ผลงาน
ผู้ที่ได้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว สามารถอัพโหลดไฟล์บอร์ดขนาด A1 จำนวน 1 แผ่น ขึ้นในลิ้งก์ที่จัดเตรียมไว้ให้ ตามเลขรหัสที่ได้รับตอนลงทะเบียน แต่ไม่ต้องใส่เลขรหัสที่ได้รับรับตอนลงทะเบียนลงบนบอร์ดผลงาน
ไฟล์ดิจิทัล – ไฟล์ที่ส่งต้องเป็น PDF format มีความละเอียด 300 dpi ตั้งชื่อไฟล์ตามหมายเลขรหัสที่ได้รับตอนลงทะเบียน และตามด้วยประเภท เช่น B0001-นักเรียน
เงื่อนไข
- ไม่มีค่าใช้จ่ายในการสมัคร
- ผลงานทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่มจะถูกจัดประกวดรวมกันในแต่ละประเภท
- ผลงานประเภทกลุ่มที่มีสมาชิกในกลุ่มประกอบด้วยทั้งบุคคลทั่วไปและนักเรียนให้ส่งประกวดประเภทบุคคลทั่วไป
- ผู้ประกวดสามารถส่งผลงานได้มากกว่า 1 ผลงาน โดยให้ทำการสมัครส่งผลงานทีละ 1 ผลงาน
- เป็นผลงานที่ไม่เคยนำไปเผยแพร่ หรือส่งประกวดที่ใดมาก่อน และห้ามเผยแพร่ผลงานการประกวดก่อนการประกาศผลรางวัล
- ผลงานที่ส่งเข้าประกวดห้ามมีส่วนหนึ่งส่วนใดละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และลิขสิทธิ์ของผู้อื่น
- ผู้ส่งเข้าประกวดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานการประกวดตามรายชื้อ คณะจัดการประกวดขอสงวนสิทธิ์ในการตีพิมพ์และแสดงผลงานทุกชิ้น ตลอดจนข้อมูลอื่นๆที่ส่งเข้าประกวด เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ในทุกรูปแบบ
- การตัดสินของกรรมการถือเป็นที่สุด
- คณะผู้จัดงานขอสงวนสิทธิ์ในการไม่รับพิจารณาผลงานที่มีการผิดเงื่อนไขใด ๆ รวมถึงสิทธิในการเรียกคืนรางวัลต่าง ๆ หากมีการตรวจสอบถึงการละเมิดต่อกฎการประกวดในภายหลัง
- คณะผู้จัดงานขอสงวนสิทธิ์ในการปรับเปลี่ยนกฎ รางวัล และคณะกรรมการแข่งขัน นับจากวันประกาศรับสมัครจนถึงวันประกาศผลโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ไฟล์ข้อมูลสำหรับการประกวด
คลิกที่นี่เพื่อไปที่หน้าไฟล์ข้อมูลสำหรับงานประกวด
รางวัล
รางวัลประเภทบุคคลทั่วไป (แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย) ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีรางวัลดังนี้
รางวัลชนะเลิศ | 1 รางวัล | 15,000 | บาท |
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 | 1 รางวัล | 8,500 | บาท |
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 | 1 รางวัล | 6,500 | บาท |
รางวัลชมเชย | 1 รางวัล | 5,000 | บาท |
รางวัลประเภทนักเรียน
รางวัลชนะเลิศ | 1 รางวัล | 10,000 | บาท |
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 | 1 รางวัล | 7,500 | บาท |
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 | 1 รางวัล | 5,000 | บาท |
รางวัลชมเชย | 2 รางวัล | 3,500 | บาท |
เกณฑ์การตัดสิน
ประเภทประชาชนทั่วไป
- การวิเคราะห์พื้นที่ และการนำเสนอรูปแบบกิจกรรม ลักษณะการใช้งานและประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) รวม 121 ไร่
- แนวความคิดในการอนุรักษ์-พัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) รวม 121 ไร่
- การพัฒนาแนวความคิดที่สามารถนำไปใช้ในพื้นที่จริงอย่างเหมาะสม
- ความชัดเจน รายละเอียด และความสวยงามในการนำเสนอและการสื่อสาร
ประเภทอายุ 18 ปี หรือต่ำกว่า
- การวิเคราะห์พื้นที่ และการนำเสนอรูปแบบกิจกรรม ลักษณะการใช้งานและประโยชน์ใช้สอยของอาคารสถานีรถไฟหลัก
- แนวความคิดในการอนุรักษ์-พัฒนาในใช้พื้นที่ตัวอาคารสถานีรถไฟหลัก
- การพัฒนาแนวความคิดที่สามารถนำไปใช้ในพื้นที่จริงอย่างเหมาะสม
- ความชัดเจน รายละเอียด และความสวยงามในการนำเสนอและการสื่อสาร
กำหนดการ
วันที่ | รายละเอียด |
26 มีนาคม ถึง 7 พฤษภาคม 2564 (23.59 น.) | เปิดรับสมัครลงทะเบียน |
8 พฤษภาคม 2564 | ปิดรับสมัครผลงาน |
16 พฤษภาคม 2564 | ประกาศผลการตัดสิน |
คณะกรรมการตัดสิน
กรรมการประเภทประชาชนทั่วไป
- ตัวแทนผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย
- ดร.อธิปัตย์ บำรุง อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)
- คุณพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
- คุณสุวัฒน์ วสะภิญโญกุล ตัวแทนจากสภาสถาปนิก
- คุณจูน เซคิโน ตัวแทนจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ผศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย
- คุณนำชัย แสนสุภา นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย
กรรมการประเภทนักเรียน เยาวชน
- ตัวแทนผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย
- ตัวแทนจากผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
- ตัวแทนจากสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย
- คุณปองขวัญ ลาซูส ประธาน Docomomo Thai
- คุณวิภาวี กิตติเธียร ตัวแทนจากกลุ่มสาธารณะ/ Mayday
หมายเหตุ:
* การประกวดแนวความคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการการศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)” ได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และได้รับความร่วมมือจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งโครงการวิจัยนี้เป็นการทำงานร่วมกัน 4 โครงการวิจัยย่อยระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอาศรมศิลป์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร
**ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกชนะรางวัลในประเภทต่างๆ จะถูกนำไปช่วยเสริมในการศึกษาวิจัยโครงการนี้เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่สมบูรณ์ขึ้น และไม่มีข้อผูกมัดอันใดว่าผลงานที่ได้รับการคัดเลือกเหล่านั้นจะต้องถูกนำไปพัฒนาเป็นโครงการสร้างจริง